โครงการวิจัย ศิวิไลซ์ข้ามพรมแดน : การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ข้ามชาติของชาวม้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แหล่งทุน  RCSD

นักวิจัย  ดร.ประสิทธิ ลีปรีชา

ศาสนาคริสต์เริ่มปฏิบัติการเผยแพร่ศาสนาสู่ชุมชนชาติพันธุ์พร้อมๆ กับการขยายอำนาจของลัทธิอาณานิคม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีมิชชันนารีจากประเทศในทวีปยุโรปเป็นผู้เริ่มต้นตามมาด้วยมิชชันนารีจากสหรัฐอเมริกา การเผยแพร่ศาสนาที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศตะวันตกตั้งอยู่บนฐานคิดของทฤษฎีวิวัฒนาการที่มองว่าสังคมตะวันตกเป็นสังคมที่มีความเจริญกว่า ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและสังคม วัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็ก กลุ่มน้อยที่มีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นกลุ่มชนที่ยังมีความดั้งเดิม ล้าหลัง และเป็นคนนอกศาสนา

เมื่อปี ค.ศ. 1899 มิชชันนารีชาวอังกฤษนิกายโปรเตสแต๊นท์ เริ่มเข้าเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวม้ง(ในประเทศจีนถูกเรียกว่า “เหมี่ยว”) ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างมณฑลยูนนานกับมณฑลกุ้ยโจว ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสนิกายโรมันคาทอลิกได้เริ่มเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวม้งที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และสามารถเข้าถึงชุมชนม้งในประเทศเวียดนามและลาวในค.ศ. 1920 และ 1950 ตามลำดับ ในประเทศไทย มิชชันนารีชาวอเมริกันเริ่มเผยแพร่ศาสนา ในหมู่ชาวม้งในช่วงกลางทศวรรษ 1950 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองในประเทศจีนเป็นระบบคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 ทำให้มิชชันนารีที่ปฏิบัติการในประเทศจีนถูกรัฐบาลขับออกนอกประเทศทั้งหมด ในช่วงสงครามในประเทศเวียดนามและลาว ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1975 การเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีประสบกับความยากลำบาก ยิ่งภายหลังที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้มีความเข้มงวดในการอนุญาตให้มิชชันนารีทำการเผยแพร่ศาสนา จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่มิชชันนารีเหล่านี้ย้ายฐานการปฏิบัติงานเข้าไปในประเทศไทยแทน

กิจการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีในหมู่ชาวม้งในประเทศไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมาถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ชาวม้งจำนวนมากได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ทั้งในนิกายโรมันคาทอลิก โปรเตสแต๊นท์ เซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติสท์ และนิกายย่อยอื่นๆ ประมาณว่าปัจจุบันชาวม้งในประเทศไทยที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มีประมาณร้อยละ 10 ของประชากรม้งทั้งหมด (ประมาณ 150,000คน) เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลัง มีชาวม้งรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาในสถาบันสอนพระคัมภีร์ทั้งในและต่างประเทศ มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาแทนมิชชันนารีชาวตะวันตกมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังพบว่า ตั้งแต่ช่วงต้น ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มิชชันนารีชาวม้งจากสหรัฐอเมริกายังร่วมมือกับผู้นำศาสนาคริสต์ชาวม้งในประเทศไทยในเผยแพร่ศาสนา และชักชวนให้ชาวม้งเปลี่ยนศาสนาอย่างเข้มแข็ง และยังมีบทบาทสำคัญในการข้ามพรมแดน เผยแพร่ศาสนาในชุมชนม้งประเทศลาว เวียดนาม จีน และพม่า อาศัยวิธีการที่หลากหลายในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่

แม้ว่ารัฐบาลประเทศสังคมนิยมทั้งลาว เวียดนามและจีน จะเข้มงวดการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีต่างชาติ ทั้งด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ที่ถือว่าศาสนาเป็นยาเสพติด และบทเรียนอันเจ็บปวดที่ได้จากลัทธิอาณานิคมของชาวตะวันตก แต่มิชชันนารีชาวม้งจากประเทศไทยและอเมริกาสามารถหาวิธีการที่แยบยลในการเผยแพร่ศาสนาในสามประเทศดังกล่าว เช่น ส่งเทปคำสอนจากประเทศไทยไปยังสถานีวิทยุคลื่นสั้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อกระจายเสียงเข้ามายังผู้ฟังในประเทศดังกล่าว สอนพระคัมภีร์และทำพิธีกรรมโดยใช้โทรศัพท์มือถือ และระบบอินเตอร์เน็ท เดินทางเข้ามาประเทศในฐานะนักท่องเที่ยวแล้วแอบสอนพระคัมภีร์แก่ผู้นำคริสตจักรท้องถิ่น รวมถึงจัดนมัสการและสอนพระคัมภีร์แก่ม้งคริสเตียนตามบริเวณชายแดนไทย-ลาว

ข้อค้นพบประการสำคัญของงานวิจัยนี้ คือการเผยแพร่ศาสนาโดยมิชชันนารีชาวม้งจากประเทศไทยและอเมริกาเข้าให้แก่ชาวม้งในลาว เวียดนามและจีน (รวมทั้งพม่าด้วย) เป็นการผลิตซ้ำ และตอกย้ำแนวคิดวิวัฒนาการที่มองว่าศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมแบบตะวันตกมีความทันสมัยกว่าลัทธิบูชาบรรพบุรุษและประเพณีนิยมของชาวม้ง โดยมองว่าความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นลัทธิซาตาน นอกรีดและล้าหลัง การเผยแพร่ศาสนาให้แก่คนม้งโดยมิชชันนารี ชาวม้งจึงเป็นการหยิบยื่นความเจริญแบบตะวันตกเพื่อชาวม้งจะได้มีพระผู้ช่วยให้รอด กับทั้งรับเอาสิ่งที่ถือว่าเป็นความทันสมัย ซึ่งรวมถึงการไม่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนและการไม่ดื่มสุรา เป็นต้น