โครงการวิจัย เรื่อง ภาษาชาติพันธุ์ในมิติทางสังคมและการเมือง

แหล่งงบประมาณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
นักวิจัย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ

ในช่วงปี 2553-2554 ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนาได้จัดทำ “โครงการมิติทางสังคม การเมืองของการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น” เพื่อประเมินและศึกษาการดำเนินการโครงการฟื้นฟูภาษาและโครงการทวิภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ดำเนินการโดยสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย วัตถุประสงค์ของโครงการฯ จึงเป็นการศึกษาการฟื้นฟูภาษาชาติพันธุ์โดยอาศัยมุมมองทางสังคม ซึ่งหมายถึงการทำเข้าความใจการฟื้นฟูภาษาฯ ในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งความหมายและความเชื่อมโยงของภาษากับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ด้วยข้อจำกัดของเวลาและงบประมาณ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯได้เลือกศึกษาชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์เพียง 7 แห่ง คือ ชุมชนโซ่ (ทะวืง) จังหวัดสกลนคร ชุมชนญัฮกุร หรือชาวบน จังหวัดชัยภูมิ ชุมชนละเวือะ จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนชอง จังหวัดนนทบุรี กลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 4 กลุ่มนี้ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง และกำลังเผชิญกับปัญหาการถดถอยของการใช้ภาษา หรือการตายของภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เด็กและเยาวชนไม่ยอมพูดภาษาของตน รู้สึกอับอาย รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อภาษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้เลือกศึกษาชุมชนเขมร จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนชาวมอญ จังหวัดราชบุรี และชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง3 นี้แตกต่างไปจาก 4 กลุ่มแรกที่มีภาษาของตนมีระบบเขียนของตนเอง ชุมชนชาวเขมรและมอญเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกันคือ เด็กและเยาวชนไม่นิยมพูดภาษาของตนเอง หันไปใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน เพราะได้เรียนอ่านและเขียนภาษาไทยจากโรงเรียน รวมทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกชุมชนที่พูดภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเด็กและเยาวชนมาเลย์มุสลิม ถึงแม้จะยังพูดภาษายาวีในชีวิตประจำวันและในการประกอบพิธีทางศาสนา แต่เมื่อต้องเรียนภาษาไทยในโรงเรียนจึงไม่ได้มีโอกาสใช้ภาษาของตนเองน้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเรียนภาษาไทยได้ดีเท่าที่ควร ชุมชนชาติพันธุ์ทั้ง 7 แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยของโครงการฟื้นฟูภาษาและโครงการทวิภาษาของสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการฟื้นฟูภาษาฯ ได้พัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนในการใช้ภาษาถิ่น สื่อการเรียนการจะทำออกมาในรูปแบบเดียวกัน เช่น หนังสือ นิทานเล่มยักษ์ หนังสือนิทานเล่มเล็ก และแบบฝึกหัดสำหรับนักเรียน รวมถึงการเรียนการสอนโดยใช้ท่าทางประกอบในการสอนหรือ TPR (Total Physical Reponse) ซึ่งจะใช้สื่อการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งโครงการฟื้นฟูภาษาฯ และโครงการทวิภาษาฯ โดยใช้ระบบตัวเขียนภาษาไทยเป็นภาษาไทย สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง การเรียนการสอนที่ใช้ภาษาถิ่น ที่มีระบบตัวเขียนภาษาไทยย่อมมีความหมายสำคัญยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการฟื้นฟูภาษาของตนเองให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ภาษาของตนเอง มีระบบตัวเขียนที่สามารถบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของตนเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในภาษาและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ตนเอง ในกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาเขียนของตนเอง ได้แก่กลุ่มชาวเขมร (หรือที่ถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เขมรถิ่นไทย”) มอญและมาเลย์มุสลิม สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชียถือว่าเป็น “โครงการทวิภาษา” เพราะไม่ได้พัฒนาระบบตัวเขียนขึ้นมาใหม่ แต่สอนด้วยภาษาถิ่น และสอนภาษาไทยควบคู่ไปด้วยทำให้เด็กนักเรียน เรียนรู้ภาษาไทยดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาชุมชนชาติพันธุ์ที่มีการทดลองการฟื้นฟูภาษาและโครงการทวิภาษา พบว่ามีผลที่แตกต่างกันดังนี้

กรณีชุมชนละเวือะ ลักษณะเด่นคือ ชาวละเวือะยังเคร่งครัดในประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน ยังใช้ภาษาละเวือะในชีวิตประจำวัน ในบริบทของศาสนาและประเพณีพิธีกรรม ทั้งๆ ที่ชาวละเวือะอยู่ในชุมชนพหุภาษา สามารถพูดภาษากะเหรี่ยง ภาษาคำเมืองของคนพื้นราบได้ โครงการฟื้นฟูภาษาฯ มุ่งเน้นไปที่การสอนภาษาไทยและพัฒนาระบบตัวเขียนภาษาละเวือะด้วยตัวอักษรไทย แต่โดยที่มีภาษาเขียนที่สร้างโดยมิชชันนารีอยุ่แล้ว และยังใช้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในพิธีกรรมทางศาสนา การพัฒนาระบบตัวเขียนภาษาละเวือะ จึงจำกัดอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น ชาวละเวือะยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใช้ระบบใดดี เพราะระบบตัวเขียนที่พัฒนาขึ้นมามีความแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มโซ่ (ทะวืง) ที่จังหวัด สกลนคร อยู่ในสังคมพหุภาษาเช่นเดียวกันชาวโซ่ เผชิญกับปัญหาภาษาของตนที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤต รู้สึกอับอายที่จะพูดภาษาโซ่ เนื่องจากถูกดูแคลนจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในกรณีนี้ โครงการฟื้นฟูภาษาฯ ได้สนับสนุนการสอนภาษาโซ่ (ทะวืง) ในโรงเรียน โดยมีชาวโซ่กลุ่มหนึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบเรียน ซึ่งได้รับความสำเร็จและมีส่วนสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวโซ่เป็นอย่างมากการฟื้นฟูภาษาจึงเป็นการฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจใจความเป็นโซ่ รวมทั้งเกิดพลังที่จะรวมตัวกันศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญา รื้อฟื้นประเพณีและวัฒนธรรมของโซ่ขึ้นใหม่และสามารถชักชวนให้หน่วยงานจากภายนอกเห็นความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น

กรณีของชาวญัฮกุรมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก และออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชน ต้องพะวงกับการทำมาหากินเพื่อหารายได้มากกว่าที่จะสนใจการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ชาวญัฮกุรหันมาพูดภาษาอื่นมากกว่าภาษาของตนเอง โครงการฟื้นฟูภาษาฯได้มีส่วนทำให้คนภายนอกมองเห็นคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมของชาวญัฮกุร จนนำเอาไป เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของจังหวัด ในขณะเดียวกันโครงการต่อเนื่องจากโครงการระยะแรกได้เน้นไปที่การสอนเด็กพิเศษ หรือกลุ่ม LD (Learning Disabilities) ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และตรงกับปัญหาของชุมชน

ส่วนกลุ่มเขมรในจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มมอญในจังหวัดราชบุรีและกลุ่มมาเลย์มุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีภาษาที่มีระบบตัวเขียน เด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่มีโอกาสในการเรียนภาษาของตนเองในโรงเรียน และมีปัญหาในการเรียนภาษาไทย โครงการฟื้นฟูภาษาฯ จึงพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการสอนภาษาไทย ในกรณีของกลุ่มเขมรนั้น ชุมชนและโรงเรียนเข้าใจปัญหาการปะปนระหว่างภาษาเขมรและภาษาไทยของเด็ก และได้เข้ามาสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการทำโครงการทวิภาษาฯ อย่างแข็งขัน ผลการดำเนินการของโครงการสามารถทำให้เด็กเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ โดยมีเหตุผลว่า การใช้ระบบตัวเขียนอักษรไทย เป็นความพยายามที่จะผสมกลมกลืนทางภาษา และเป็นการลิดรอนสิทธิในภาษาแม่ของเด็กชนกลุ่มน้อยอักษรไทยไม่สามารถจะแทนเสียงในภาษาเขมรได้ทั้งหมด ในกรณีของชุมชนมอญปัญญาชนมอญได้ตระหนักถึงการถอดถอยของการใช้ภาษาในชุมชนของตนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ไม่มีโอกาสเรียนภาษามอญจากวัดที่เป็นแหล่งความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมเหมือนเดิม เนื่องจากต้องเข้าเรียนในระบบโรงเรียนของรัฐได้มีการรวมตัวกันหันมาฟื้นฟูภาษามอญ เขียนตำราสอนภาษามอญ บทสวดมนต์ภาษามอญ โดยใช้ระบบตัวเขียนภาษาไทย ชุมชนมอญเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเอง ชาวมอญส่วนใหญ่ยังใช้ภาษามอญกันอยู่ แต่สำหรับเด็กและเยาวชนมอญยังเป็นเรื่องยากที่จะมีแรงจูงใจเรียนภาษามอญ เพราะไม่สามารถนำไปใช้ได้ในการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก

กรณีของชุมชนมาเลย์มุสลิมนั้น เป็นที่สังเกตว่า โครงการฟื้นฟูภาษาฯและจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสัมฤทธิ์ผลในการเรียนต่ำ เป็นเพราะภาษาเป็นอุปสรรค หรือกำแพงที่ขวางกั้นการเรียนรู้ ดังนั้นทางโครงการจึงพัฒนาวิธีการสอนภาษาทางเด็กปฐมวัย โดยการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ผลการดำเนินการถือว่าได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่พอใจของครูผู้สอน และผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เฝ้ามองการดำเนินงานของโครงการทวิภาษาฯ มีความเห็นแตกต่างกันออกไป เพราะเกรงว่าวิธีการสอนที่ใช้ระบบตัวเขียนอักษรไทยในการเขียนภาษามลายูถิ่น จะเป็นการกลืนกลายทางภาษา และลิดรอนสิทธิในการใช้ภาษาแม่ของเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อยในทัศนะของภาคประชาสังคม ภาษายาวีเป็นภาษาที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์มลายูมุสลิม ที่สัมพันธ์แนบแน่นกับศาสนาอิสลาม รวมทั้งยังเป็นภาษาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันทั้งในครอบครัวและในการติดต่อสื่อสารสาธารณะ ดังนั้นโครงการทวิภาษาฯ จึงไม่ควรที่จะสอนภาษาแม่โดยใช้อักษรไทย เพื่อให้การเรียนภาษาไทยดีขึ้น กับทั้งระบบการเขียนภาษาไทยยังไม่สามารถแทนเสียงภาษายาวีได้ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ความหวาดระแวงและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โครงการทวิภาษาฯกลายเป็นประเด็นที่ความละเอียดอ่อนที่สมควรมีการทบทวนอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาการดำเนินการของโครงการฟื้นฟูภาษาและโครงการทวิภาษาในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 กลุ่ม โดยจำแนกมิติทางสังคมออกเป็น 5 ด้าน กล่าวคือ ก) ความเข้าใจของชุมชน ข) ความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วม ค) ประโยชน์ของโครงการ ง) การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก จ) ความสัมพันธ์ของโครงการชุมชนจะเห็นได้ว่า แต่ละพื้นที่แม้จะใช้กระบวนการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกัน ความสำเร็จของโครงการในมิติทางสังคมกลับแตกต่างกัน โครงการฟื้นฟูภาษาทำให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในกรณีของชาวโซ่ (ทะวืง) หรือมีผลทำให้นำเอาอัตลักษณ์ของชาวญัฮกุร ไปเผยเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ในกรณีของภาษาเขมร และภาษามาลายูถิ่นใต้ ที่มีระบบตัวเขียนอยู่แล้ว การใช้ระบบตัวเขียนภาษาไทยเขียนภาษาแม่ ถึงแม้จะได้ผลดีในการเรียนของเด็กนักเรียนก็ตาม โครงการกลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านจากภาคประชาสังคม การดำเนินการของโครงการในกรณีเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาบริบททางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองประกอบด้วยเพราะอาจจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ และความขัดแย้งเพิ่มขึ้นได้