ฐานข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์กับการพัฒนา

 

Store Locator

“การพัฒนา” มีความหมาย 2 ประการ คือ การพัฒนาที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย โดยมองว่าวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นล้าหลัง  นับถือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ พูดภาษาไทยไม่ได้ ขาดการศึกษา ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้คนเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นตามความต้องการของรัฐ นอกจากนี้การพัฒนาของรัฐยังเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติโดยมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น ปลูกฝิ่น ค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า การพัฒนาในแนวทางนี้คือ การเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาลให้ชาวบ้านสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้น การพัฒนาในแนวทางนี้ จึงถูกวิพากษ์จากกลุ่มที่สอง ว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อีกทั้งการพัฒนาเหล่านี้ยังเป็นการเสริมสร้างอำนาจให้แก่หน่วยงานพัฒนา ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพิงรัฐ ตลาด และองค์กรภายนอก มากกว่าการพึ่งพิงตนเอง เช่น กรณีการเปลี่ยนรูปแบบการทำไร่แบบเดิมไปสู่เกษตรเชิงเดี่ยว หรือ เกษตรพันธะสัญญา เป็นต้น

ท่ามกลางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นนี้บางชุมชนได้ยินยอมกับการพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นให้อย่างปราศจากข้อสงสัย ขณะที่บางชุมชนได้ตั้งคำถามกับการพัฒนาว่า การพัฒนานั้น ได้นำความเจริญมาสู่ชุมชนตนเองจริงหรือไม่ ทำไมชุมชนตนเองถึงมีหนี้สิน ทำไมถึงไม่สามารถทำกินบนที่ดินตนเองได้ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ได้เรียนรู้บทเรียนการพัฒนาจากชุมชนอื่นๆ รวมทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนตนเอง

ฐานข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์กับการพัฒนา เป็นฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมประสบการณ์การเผชิญกับการพัฒนาของชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเน้นกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ เป็นเบื้องต้น แล้วจึงขยายไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศไทย